ความหมายของสมาธิ

13 มิ.ย.52 14:10 น. ผู้ชมจำนวน 19573

ความหมายของสมาธิ

            คำว่า  “สมาธิ”  ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า  Concentration  เป็นศัพท์ที่สำคัญที่สุดในบรรดาศัพท์เฉพาะทั้งหลาย  ยิ่งกว่านั้นยังเป็นศัพท์ดั้งเดิมที่พระพุทธเจ้าทรงใช้มาด้วยพระองค์เอง  เพราะศัพท์นี้ปรากฏในปฐมเทศนาของพระองค์  ทรงใช้ในความหมายของ “สัมมาสมาธิ”  ศัพท์ว่า    ”สมาธิ” มาจาก สํ  (อุปสัค) – อา (อุปสัค) – ธา (ธาตุ)  ในความหมายว่า “ใส่หรือวางไว้ด้วยกัน” “รวม”  “จดจ่อ”  เป็นสภาวะจิตระดับหนึ่ง  ในทางวิชาการศัพท์นี้หมายถึงทั้งระดับของจิตและวิธีที่กำหนดขึ้นเพื่อก่อให้เกิดจิตระดับนั้นขึ้นมา  ส่วนความหมายในพจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์   ได้ให้ความหมายว่า สมาธิ คือ  ความมีใจตั้งมั่น  ความตั้งมั่นแห่งจิต  การทำให้ใจสงบแน่วแน่ไม่ฟุ้งซ่าน  การมีจิตกำหนดแน่วแน่อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ   มักใช้เป็นคำเรียกง่าย ๆ   สำหรับอธิจิตตสิกขา  หรือเรียกสั้น ๆ ว่า  “เอกัคคตา”  ซึ่งแปลว่า  ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว  คือมีจิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว[2]     ส่วนในวิสุทธิมรรคกล่าวไว้ว่า  “กุสล-       จิตฺเตกคฺคตา  สมาธีติ” หมายความว่า ความมีอารมณ์อันเดียวแห่งจิตที่เป็นกุศล  เป็นสมาธิ

            คัมภีร์รุ่นอรรถกถาระบุความหมายจำกัดลงไปอีกว่า  สมาธิ  คือภาวะมีอารมณ์หนึ่งเดียวของกุศลจิตและไขความออกไปว่า  หมายถึงการดำรงจิตและเจตสิกไว้ในอารมณ์หนึ่งเดียว  อย่างเรียบสม่ำเสมอ  และด้วยดี

            “สัมมาสมาธิ”  ตามคำจำกัดความในพระสูตรทั่วไป  ได้แก่  สมาธิตามแนวฌาน 4  ดังนี้

            “ภิกษุทั้งหลาย  สัมมาสมาธิเป็นไฉน ?  คือ  ภิกษุในธรรมวินัยนี้

1.      สงัดจากกามทั้งหลาย  สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย  บรรลุปฐมฌาน  ซึ่งมีวิตก  วิจาร

ปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่

            2.  บรรลุทุติยฌาน  ซึ่งมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน  มีภาวะใจเป็นหนึ่งผุดขึ้น  ไม่มีวิตก  ไม่มีวิจาร  เพราะวิตกวิจารระงับไป  มีแต่ปีติและสุข  เกิดแต่สมาธิอยู่

            3.  เพราะปีติจางไป  เธอจึงมีอุเบกขาอยู่  มีสติสัมปชัญญะ  และเสวยสุขด้วยกาย  บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวว่า  “ เป็นผู้มีอุเบกขา  มีสติ  อยู่เป็นสุข”

            4.  เพราะละสุขละทุกข์  และเพราะโสมนัสโทมนัสดับหายไปก่อน  จึงบรรลุจตุตถฌาน  อันไม่มีทุกข์  ไม่มีสุข  มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อยู่

            คำจำกัดความนี้  น่าจะถือว่าเป็นการแสดงความหมายแบบเต็มกระบวนการ

            ส่วนคำจำกัดความในคัมภีร์อภิธรรม  ว่าดังนี้

            “สัมมาสมาธิ  เป็นไฉน ?  ความตั้งอยู่แห่งจิต  ความตั้งแน่วแห่งจิต  ความมั่นลงไปแห่งจิต  ความไม่ส่ายไป  ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต  ภาวะที่มีใจไม่ซัดส่าย  ความสงบ(สมถะ)  สมาธินทรีย์  สมาธิพละ  สัมมาสมาธิ  สมาธิสัมโพชฌงค์  ที่เป็นองค์แห่งมรรค  นับเนื่องในมรรค  อันใด  นี้เรียกว่า  สัมมาสมาธิ”[5]

            ว่าโดยสาระสำคัญ  สมาธิที่ใช้ถูกทาง  เพื่อจุดหมายในทางหลุดพ้น  เป็นไปเพื่อปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง  มิใช่เพื่อผลในทางสนองความอยากของตัวตน เช่นจะอวดฤทธิ์ อวดความสามารถ  เป็นต้น นั่นเอง  เป็นสัมมาสมาธิ   ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเจริญวิปัสสนาได้โดยใช้สมาธิเพียงขั้นต้น ๆ ที่เรียกว่า  วิปัสสนาสมาธิ  คือ สมาธิที่ใช้ประกอบกับวิปัสสนา  หรือเพื่อสร้างปัญญาที่รู้แจ้ง  อันเป็นสมาธิในระดับระหว่างขณิกสมาธิกับอุปจาระสมาธิ เท่านั้น

ระดับของสมาธิ

            ในชั้นอรรถกถา  ท่านจัดแยกสมาธิออกเป็น 3 ระดับคือ

1.      ขณิกสมาธิ  สมาธิชั่วขณะ เป็นสมาธิขั้นต้น  ซึ่งคนทั่วไปอาจใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติ

หน้าที่การงานในชีวิตประจำวันให้ได้ผลดี  และจะใช้เป็นจุดตั้งต้นในการเจริญวิปัสสนาก็ได้

2.      อุปจารสมาธิ  สมาธิเฉียด ๆ หรือสมาธิจวนจะแน่วแน่  เป็นสมาธิขั้นระงับนิวรณ์ได้  ก่อน

ที่จะเข้าสู่ภาวะแห่งฌาน  หรือสมาธิในบุพภาคแห่งอัปปนาสมาธิ

3.      อัปปนาสมาธิ  สมาธิแน่วแน่  หรือสมาธิที่แนบสนิท เป็นสมาธิระดับสูงสุด ซึ่งมีในฌานทั้ง

หลาย ถือว่าเป็นผลสำเร็จที่ต้องการของการเจริญสมาธิ

สมาธิยอย่างที่สองและสาม  มีกล่าวถึงบ่อย ๆ ในคำอธิบายเกี่ยวกับการเจริญกรรมฐาน และมีที่

กำหนดค่อนข้างชัดเจน  คือ อุปจารสมาธิ  เป็นสมาธิเมื่อจิตตั้งมั่นโดยละนิวรณ์ทั้ง 5 ได้  ถ้ามองในแง่การกำหนดอารมณ์กรรมฐาน  ก็เป็นช่วงที่เกิดปฏิภาคนิมิต  เป็นสมาธิจวนเจียนจะแน่วแน่โดยสมบูรณ์  ใกล้จะถึงฌาน  เมื่อชำนิชำนาญคุ้นดีแล้ว  ก็จะแน่วแน่กลายเป็นอัปปนาสมาธิ  เป็นองค์แห่งฌานต่อไป  แต่สมาธิอย่างแรกคือขณิกสมาธิ  ดูเหมือนจะไม่มีเครื่องกำหนดหมายที่ชัดเจน  จึงน่าจะพิจารณาพอให้เห็นเค้ารูปว่าแค่ไหนเพียงไร

            คัมภีร์ปรมัตถมัญชุสา  กล่าวว่า  มูลสมาธิ (สมาธิขั้นมูล  สมาธิเบื้องต้น  หรือสมาธิต้นเค้า) และบริกรรมสมาธิ (สมาธิขั้นตระเตรียม  หรือเริ่มลงมือ)  ที่กล่าวถึงในคัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นขณิกสมาธิ

            มูลสมาธิที่ว่าเป็นขณิกสมาธินั้น  ท่านยกตัวอย่างมาจากบาลีมาแสดง  ดังนี้

            1.  “เพราะฉะนั้นแล  ภิกษุ  เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า  จิตของเราจักเป็นจิตที่ตั้งมั่น  ดำรงแน่วเป็นอย่างดีภายใน  และธรรมทั้งหลายที่ชั่วร้ายเป็นอกุศล  จักไม่เกาะกุมจิตตั้งอยู่ได้, ภิกษุ  เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล

            2.  เมื่อใดแล  จิตของเธอ    เป็นจิตที่ตั้งมั่น  ดำรงแน่วเป็นอย่างดีแล้ว  ในภายใน  และธรรมทั้งหลายที่ชั่วร้ายเป็นอกุศล  ไม่เกาะกุมจิตตั้งอยู่ได้  เมื่อนั้น  เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า  เราจักเจริญ  จักทำให้มาก  ซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติ  ทำให้เป็นดุจยาน  ทำให้เป็นที่ตั้ง  ให้มั่นคง  สั่งสมจัดเจน  ทำให้สำเร็จได้เป็นอย่างดี,  ภิกษุเธอพึงศึกษาอย่างนี้แล

            3.  เมื่อใดแล  สมาธินี้  เป็นธรรมอันเธอได้เจริญ  ได้กระทำให้มากอย่างนี้แล้ว  เมื่อนั้นเธอพึงเจริญสมาธินี้  อันมีทั้งวิตกทั้งวิจารบ้าง  อันไม่มีทั้งวิตกมีแต่วิจารบ้าง  อันไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง  อันมีปีติบ้าง  อันไม่มีปีติบ้าง  อันประกอบด้วยความฉ่ำชื่นบ้าง  อันประกอบด้วยอุเบกขาบ้าง ฯลฯ


 

หัวข้ออื่นๆ

บทนำความหมายของสมาธิประโยชน์ของการฝึกสมาธิปฏิบัติสมาธิแล้วได้อะไรวิธีเจริญสมาธิใครควรปฏิบัติสมาธิสรุป

© Copyright 2007-2012 www.Watdon.net All rights reserved.